กรุงเทพ เมืองหลวงของประเทศไทยได้ถูกขนานนามไว้ว่าเป็นเวนิสแห่งตะวันออกตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของคนกรุงขึ้นอยู่กับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านมาอย่างช้านาน หากคุณล่องเรือโดยสารไปตามสายน้ำ นอกจากทัศนียภาพของโบราณสถาน และได้เห็นความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองหลวงแล้ว ก็ยังมีวัดที่สวยงามมากมาย รอคอยให้ผู้คนได้เข้ามาเยี่ยมชม พร้อมไหว้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ในบทความนี้เราจะชวนผู้อ่านขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยาเพื่อไปยังจุดจอดท่าเรือต่าง ๆ แล้วแวะไหว้พระให้จิตใจรู้สึกร่มเย็นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์กันค่ะ
วัดยานนาวามีชื่อเดิมว่าวัดคอกควายหรือวัดคอกกระบือ เนื่องจากในอดีตเป็นบริเวณที่มีการค้าขายควายกันที่นี่ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดญาณนาวาราม และเหลือเพียงวัดยานนาวาอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน วัดยานนาวาเป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ต่อมาถูกยกให้เป็นพระอารามหลวงในช่วยรัชสมัยของรัชกาลที่ 1 มีการสร้างพระอุโบสถ และสร้างเจดีย์ทรงเรือสำเภาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3
เนื่องจากแต่เดิม เวลาที่ไทยออกไปค้าขายกับต่างประเทศจะมีการใช้สำเภาจีน แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นเรือกำปั่นของฝรั่งกันมากขึ้นเพราะใช้งานได้ดีกว่า รัชกาลที่ 3 เกรงว่าเรือสำเภาจะค่อย ๆ หายไป จึงโปรดให้สร้างเจดีย์เรือสำเภาขึ้น ด้านหลังเจดีย์เป็นที่อยู่ของพระอุโบสถแบบไทยประเพณี มีหน้าบันเป็นลายเทพนม และยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่บริเวณหน้าเจดีย์ด้วย คนที่ทำมาค้าขายมักจะมาไหว้สักการะที่นี่เพื่อขอพรให้การค้าขายและธุรกิจของตนนั้นรุ่งเรืองด้วย
แผนที่วัดยานนาวา: https://goo.gl/maps/9htFPtKdZe8kDU5u6
ท่าเรือโดยสารที่ใกล้วัดยานนาวาที่สุด: ท่าเรือเมขลา
หลังจากแวะที่วัดยานนาวากันแล้ว ก็มาต่อกันที่วัดอรุณ โดยนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาจากท่าสาทรหรือท่าสะพานตากสินมาลงที่ท่าเรือวัดอรุณ อีกหนึ่งวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอกตามชื่อของตำบลบางมะกอกที่เป็นตำแหน่งที่ตั้ง แต่หลังจากที่พระเจ้ากรุงธนบุรีย้ายจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรี พอเรือมาถึงที่นี่ก็เป็นเวลาที่พระอาทิตย์เพิ่งขึ้นพอดีในปีพ.ศ. 2310 วัดจึงถูกเรียกว่าวัดแจ้งมาตั้งแต่นั้น
ที่วัดแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้รับอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ด้วย ก่อนที่จะถูกย้ายไปไว้ที่วัดพระแก้ว ต่อมารัชกาลที่ 2 ทรงโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์วัดและตั้งเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดอรุณราชธาราม และถูกเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 4
แผนที่วัดอรุณ: https://goo.gl/maps/4pf9RGTvnJ4LdmA98
ท่าเรือโดยสารที่ใกล้วัดอรุณที่สุด: ท่าเรือวัดอรุณราชวราราม
จากนั้น คุณสามารถนั่งเรือข้ามฟากจากท่าเรือวัดอรุณมาลงที่ฝั่งตรงข้ามท่าเตียน เพื่อเยี่ยมชมวัดโพธิ์กันต่อ ซึ่งมีชื่อเดิมว่าวัดโพธาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวังทางใต้ หลังจากที่รัชกาลที่ 1 ได้สถาปนาบรมมหาราชวังขึ้น ก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้และตั้งชื่อใหม่ว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ จนรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน
หากนึกถึงวัดโพธิ์ก็คงต้องนึกถึงพระพุทธไสยาสหรือพระนอนวัดโพธิ์ที่มีขนาดยาวถึง 46 เมตร พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดดเด่นด้วยศิลปะการประดับมุกที่ฝ่าพระบาท ซึ่งสื่อถึงมงคล 108 ประการ ซึ่งประกอบไปด้วยลักษณะแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เครื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์ และมีส่วนประกอบของพระภูมิในจักรวาลตามความเชื่อในศาสนาพุทธ
แผนที่วัดโพธิ์: https://goo.gl/maps/4Ves7EnyXao9TzY69
ท่าเรือโดยสารที่ใกล้วัดโพธิ์ที่สุด: ท่าเตียน
รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้มีการย้ายราชธานี เนื่องจากตำแหน่งเดิมของกรุงธนบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองอกแตก เพราะมีลำน้ำผ่านกลางเมือง ข้าศึกอาจเข้ามารุกรานได้ง่าย ทั้งยังมีอาณาเขตติดกับว้ดอรุณและวัดโมลี ซึ่งทำให้ขยายเมืองได้ยาก รัชกาลที่ 1 จึงทรงโปรดให้สร้างวัดพระแก้วขึ้นตามวัดพระศรีสรรเพชญสมัยอยุธยา พร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปีพ.ศ. 2325 ซึ่งใช้เวลาสร้างทั้งหมด 2 ปีด้วยกัน โดยให้เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตไว้ภายในพระอุโบสถของวัด มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันสวยงามที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรามเกียรติ์ โดยการเดินทางจากวัดโพธิ์มายังวัดพระแก้วนั้น สามารถนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาจากท่าเตียนมาลงที่ท่าช้างได้เลย
แผนที่วัดพระแก้ว: https://goo.gl/maps/KBYduVG35Q73CPyt9
ท่าเรือโดยสารที่ใกล้วัดพระแก้วที่สุด: ท่าช้าง
วัดระฆังเป็นอีกวัดเก่าแก่ตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ ส่วนชื่อวัดระฆังมีที่มาจากการที่รัชกาลที่ 1 ขุดพบระฆังลูกหนึ่งขณะบูรณปฏิสังขรณ์ วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชาคณะในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และยังเคยเป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกที่ถูกอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชด้วย โดยหอพระไตรปิฎกในปัจจุบัน เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับของรัชกาลที่ 1 ในขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี ซึ่งการเดินทางมายังวัดระฆัง สามารถนั่งเรือข้ามฟากจากท่าเรือท่าช้างมาที่ท่าเรือวัดระฆังได้เลย
แผนที่วัดระฆัง: https://goo.gl/maps/yoNvmto2HbiLXtB98
ท่าเรือโดยสารที่ใกล้วัระฆังที่สุด: ท่าเรือวัดระฆัง
เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับ 5 วัดเก่าแก่ของไทยที่คุณสามารถไปเยี่ยมชมความงามและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ง่าย ๆ ด้วยการนั่งเรือโดยสาร ตามรอยวิถีไทยในอดีตที่มีน้ำคอยหล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งสะดวกกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ที่อาจมีเรื่องรถติดให้กังวล แถมยังได้ชมความสวยงามของตึกรามบ้านช่องและการใช้ชีวิตของผู้คนริมน้ำด้วย เพียงแค่คุณมีแอปรุมโบ้ติดตัวไว้ จะไปที่ไหนก็สามารถค้นหาข้อมูลการเดินทางได้ไม่กี่คลิก!